วันพฤหัสบดีที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2561

"พระบรมธาตุเจดีย์ศรีมงคล" วัดใหม่บ้านตาล อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร




ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุศรีมงคล ตำบลบ้านธาตุ ริมเส้นทางสายวาริชภูมิ - พังโคน ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 65 กม. ลักษณะเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ยอดแหลม ตกแต่งด้วยศิลปกรรมยุคใหม่ก่ออิฐถือปูนประดับด้วยลายปั้นดินเผา บริเวณฐานเป็นพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าสร้างด้วยดินเผาที่สร้างขึ้นครอบพระธาตุองค์เดิม ซึ่งเป็นศิลาแลงที่ชำรุด การคมนาคมสะดวกรถยนต์สามารถเข้าถึงบริเวณวัด นับเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองของชาววาริชภูมิ 

บริเวณที่ตั้งบ้านธาตุแต่เดิมพื้นที่เป็นป่าดง ครั้งแรกได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่อำเภอวาริชภูมิปัจจุบันนี้ เดิมเรียกว่า “ เมืองวารี” มีนายเวียงแก โฮมวงศ์ เป็นหัวหน้า พร้อมด้วยหลวงสุวรรณราช (กะยะ) ต้นตระกูลของสกุล “บุญรักษา” นายจันทะ-เนตร โฮมวงศ์ นายเมืองกาง หัศกรรจ์ หลวงแก้ว (ไม่ทราบนามสกุล) นายบุตราช บุญรักษา และนายจันด้วง แก้วคำแสน ได้พากันออกมาหักร้างถางพงไพร เพื่อทำไร่ แต่พอถางลึกเข้าไปก็พบองค์พระธาตุร้างอยู่ในดง จึงชะงักการถากถาง เพราะกลัวอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุนี้จะลงโทษ ดังนั้นได้จึงนิมนต์ท่านพระครูหลักคำ ประธานสงฆ์เมืองวารี มาพิจารณา ท่านเห็นว่าสถานที่บริเวณนี้เป็นมงคล เหมาะที่จะสร้างหมู่บ้านได้จึงได้พร้อมใจกันถากถางบริเวณพระธาตุร้างนี้พร้อมทั้งได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลแผ่ไปให้แก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาองค์พระธาตุ และได้สร้างวัดตรงนั้น ท่านพระครูหลักคำได้ตั้งชื่อพระธาตุร้างนั้นว่า “พระธาตุศรีมงคล” ตั้งชื่อวัดว่า “วัดธาตุศรีมงคล” เมื่อประมาณ พ.ศ. 2444 และเรียกหมู่บ้านว่า “บ้านธาตุ” จนปัจจุบันนี้
ต่อมาได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่เมืองวารี ประกอบกับทำเลตั้งบ้านเรือนคับแคบและเป็นที่ลุ่ม หน้าฝนบางครั้งน้ำท่วม ผู้คนจึงได้แยกย้ายอพยพออกไปจากเมืองวารีทางด้านทิศเหนือ ไปอยู่ที่บ้านพังฮอ ทางด้านทิศใต้ไปอยู่ที่บ้านห้วยบาง และทางทิศตะวันออกไปอยู่ที่บ้านธาตุจนถึงปัจจุบันนี้
ส่วนวัดธาตุศรีมงคล ได้มีเจ้าอาวาสปกครองดูแลมาตามลำดับ นับแต่เจ้าอาวาสองค์แรก พ.ศ. 2444 คือท่านพระครูพร ซึ่งเป็นลูกผู้ไทยบ้านธาตุมาจนถึงพระครูศรีเจติยานุ-รักษ์องค์ปัจจุบัน รวมทั้งหมดมี 13 องค์
ส่วนพระธาตุศรีมงคลนั้นสร้างขึ้นในสมัยใดไม่ทราบแน่ชัด ภายในพระธาตุนั้นมีวัตถุโบราณอันล้ำค่ายิ่ง เช่น พระพุทธรูปที่ทำด้วยทองคำบ้าง ทองสัมฤทธิ์บ้าง และทำด้วยวัตถุอย่างอื่นอีกมากมาย จะเห็นได้จากเมื่อพระธาตุสลักหักพังลงมา ชาวบ้านก็ได้รวบรวมโบราณวัตถุเหล่านั้นรักษาไว้ในสถานที่อันสมควร เพื่อการสักการบูชา มีพระพุทธรูปต่างๆจำนวนมาก ต่อมามีผู้แสวงหาวัตถุโบราณขโมยไปบางอย่าง ส่วนที่เหลือก็ได้รวบรวมบรรจุไว้ในองค์พระธาตุทั้งหมด
กล่าวกันว่า พระธาตุศรีมงคลนี้ได้สร้างคู่กับพระธาตุดงเชียงเครือ ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปทางทิศเหนือประมาณ 500 เมตร สันนิษฐานว่า พะธาตุทั้งสองแห่งนี้ได้สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ผู้ครองเมืองเวียงจันทน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น